Coding กับการศึกษาในศตวรรษที่ 21

Coding กับการศึกษาในศตวรรษที่ 21

 ปัจจุบันเรากำลังจะก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า และรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา เทคโนโลยีเกิดใหม่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีการแพทย์ หุ่นยนต์ ควอนต้มคอมพิวติ้ง บิ๊กดาต้า บล็อกเชน เทคโนโลยีเกิดใหม่เหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม (Disrupting Industries) ซึ่งจะทำให้เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และวิถีชีวิตของมนุษย์ในศตวรรษนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากองค์กรภาคธุรกิจต้องแข่งขันกันด้านบริการและผลิตภัณฑ์แล้ว ยังต้องเปลี่ยนรูปแบบของการผลิตให้เป็นระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น การทำงานในอนาคตจึงต้องการทักษะของแรงงานที่สูงขึ้น โดยต้องมีความสามารถในการทำงานที่ซับซ้อน สามารถเลือกใช้ความรู้จากข้อมูลที่มีอยู่ และประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านวิชาชีพ และการใช้ชีวิต

          การมีสมรรถนะทางดิจิทัล (Digital Competence) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนไทยมีทักษะ และมีความเข้าใจเพื่อเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้ โดยสมรรถนะทางดิจิทัลนี้จะรวมไปถึงการจัดการข้อมูล การทำงานร่วมกัน การสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล การสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ ตลอดจนทักษะด้านโค้ดดิ้ง (Coding Litoracy)ซึ่งเป็นทักษะที่ทำให้เรามีความเข้าใจเรื่องโค้ดและการเขียนโค้ดซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ โค้ดดิ้งยังช่วยให้มนุษย์สื่อสารวิธีการแก้ปัญหาออกมาอย่างมีตรรกะมีโครงสร้างและเป็นระบบ ซึ่งเมื่อหันมามองทางด้านการศึกษาเด็กในทุกวันนี้เติบโตมาในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จึงเป็นความท้าทายสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะช่วยชี้แนะ หรือมีส่วนร่วมในการวางแผน อนาคตของเด็กให้สามารถปรับตัวได้ในสภาพแวดล้อมที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ที่มา :

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/

ทักษะดิจิทัล ก้าวสู่ พลเมืองในศตวรรษที่ 21

ทักษะดิจิทัล ก้าวสู่ พลเมืองในศตวรรษที่ 21

ก่อนจะทราบถึงทักษะด้านดิจิทัล ขอให้คำนิยามความหมายของประโยคที่ว่า "ความเป็นพลเมืองดิจิทัล" ที่ทุกประเทศทั่วโลกคาดหวังให้เกิดขึ้นในประชากรของตน คือ "พลเมืองผู้ใช้งานสื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์อย่างเข้าใจบรรทัดฐาน ของการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม และมีความรับผิดชอบในการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารในยุคดิจิทัลเป็นการสื่อสารที่ไร้พรมแดนจำเป็นต้องมีความฉลาดทางดิจิทัล (DQ: Digital Intelligence) "

ความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence Quotient : DQ) คือ กลุ่มของความสามารถทางสังคม อารมณ์ และการรับรู้ ที่จะทำให้คนคนหนึ่งสามารถเผชิญกับความท้าทายบนเส้นทางของชีวิตในยุคดิจิทัล และสามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตดิจิทัลได้ ความฉลาดทางดิจิทัลครอบคลุมทั้งความรู้ ทักษะ ทัศนคติและค่านิยมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในฐานะสมาชิกของโลกออนไลน์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทักษะการใช้สื่อและการเข้าสังคมในโลกออนไลน์

ที่มา :

บทความเรื่อง “พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship)” โดย Phichitra Phetparee| เผยแพร่บนเว็บไซต์ สสส. (วันที่ 27 มีนาคม 2562)
เอกสารวิชาการออนไลน์เรื่อง “คู่มือพลเมืองดิจิทัล” โดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง เผยแพร่ครั้งแรก: มิถุนายน 2561

โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

ไวรัสทุกตัวสามารถกลายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ  รวมถึง SARS-CoV-2 ที่เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ก็มีวิวัฒนาการตลอดเวลา การกลายพันธุ์เกิดขึ้นเมื่อไวรัสก็อปปี้ตัวเอง เพื่อเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น ซึ่งบางครั้งก็อาจเกิดความผิดพลาด หรือมีการการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในกระบวนการก็อปปี้สารพันธุกรรม ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับ “สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกไวรัส” ที่เป็นเพียงองค์ประกอบโปรตีนพิษ ที่ไม่มีกลไกอวัยวะอะไร จะบันทึก จำได้หมายรู้ในรูปในนาม

ภาพ : Shutterstock

เมื่อไวรัสแพร่กระจายในกลุ่มประชากรมนุษย์ผู้หลากหลายเชื้อชนชาติและก่อให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก โอกาสที่ไวรัสจะกลายพันธุ์จะเพิ่มมากขึ้น ยิ่งแพร่ระบาดมากเท่าไร ไวรัสก็จะยิ่งก็อปปี้ตัวเองซ้ำมากขึ้นเท่านั้น และโอกาสที่ไวรัสจะเกิดการกลายพันธุ์ก็จะยิ่งมากขึ้นเช่นเดียวกัน การกลายพันธุ์ของไวรัส ขึ้นอยู่กับว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ใดในสารพันธุกรรมของไวรัส ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความสามารถในการทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือคุณสมบัติของไวรัส เช่น การแพร่เชื้อ ที่อาจแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น หรือความรุนแรงที่ทำให้เกิดโรค

วัคซีนป้องกันโควิด -19 ปัจจุบันมีการพัฒนาและอนุมัติการใช้เพื่อป้องกัน โดยกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงหรือการกลายพันธุ์ของไวรัส จึงไม่ได้หมายความว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันของวัคซีนนั้น ๆ จะหมดไปโดยสิ้นเชิง

ภาพ : Shutterstock

การกลายพันธุ์ในแต่ละสายพันธุ์ของโควิด -19 นั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันมีการกลายพันธุ์จำนวนมากมายทั่วโลก แต่สำหรับเชื้อที่กลายพันธุ์และเป็นที่น่ากังวลในปัจจุบัน มี 4 สายพันธุ์หลัก ได้แก่

- อัลฟา (Alpha) หรือ B.1.1.7 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร เมื่อเดือนกันยายน 2563 มีการกลายพันธุ์รหัสพันธุกรรมในตำแหน่ง N501Y และ P681H ทำให้ไวรัสเกาะติดกับเซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้ดีขึ้น และทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อสร้างโปรตีนหนามใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นผลให้ เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ปกติ โดยแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 1.7 เท่า และยังมีงานวิจัยที่ยืนยันว่า เป็นสายพันธุ์ที่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอีกด้วย

- เบตา (Beta) หรือ B.1.351 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 การกลายพันธุ์ที่รหัสพันธุกรรมในตำแหน่ง N501Y, E484K และ K417N ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ปกติ หรือก็คือ เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง ไวรัสยังอาจหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ นั่นก็คือ ร่างกายของคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว อาจไม่สามารถต้านทานไวรัสกลายพันธุ์นี้ได้ และประสิทธิภาพของวัคซีนบางตัวก็อาจลดลงเมื่อเจอสายพันธุ์นี้

- แกมมา (Gamma) หรือ P.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในบราซิล ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 พบการกลายพันธุ์ที่รหัสพันธุกรรมในตำแหน่ง K417T, N501Y และ E484K ซึ่งมีผลให้ไวรัสเกาะติดกับเซลล์ของมนุษย์ได้แน่นขึ้น แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น โดยนักวิจัยระบุว่า เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม 2.5 เท่า และอาจหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันบางอย่างได้ ทำให้ภูมิคุ้มกันของคนที่เคยติดเชื้อมาแล้วอาจรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์นี้ไม่ได้

- เดลตา (Delta) หรือ B.1.617.2 เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอินเดีย ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 เป็นสายพันธุ์ที่ถูกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากแพร่กระจายได้ง่าย และมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ โดยเดลตามีอัตราแพร่เชื้อสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟา ราว 60% แม้ว่าอัลฟามีอัตราแพร่เชื้อสูงกว่าเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมอยู่แล้วถึง 50% นอกจากนี้ สายพันธุ์เดลตายังทำให้เกิดการระบาดระลอกที่สองในอินเดียเมื่อเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2564 อีกทั้งยังกลายเป็นเชื้อสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดอังกฤษ  และยังพบว่าเชื้อสายพันธุ์นี้ได้แพร่เข้าไปในกว่า 90 ประเทศทั่วโลกแล้วทั้งในสหรัฐฯ จีน แอฟริกา แถบสแกนดิเนเวีย และภูมิภาคในมหาสมุทรแปซิฟิก

   เดลตาเป็นสายพันธุ์ที่แตกแยกย่อยลงไป 3 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ B.1.617.1, B.1.617.2, และ B.1.617.3 สำหรับ B.1.617.1 และ B.1.617.3 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484Q และ L452R ส่วน B.1.617.2 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ดังนั้น ในสายพันธุ์ B.1.617.1 และ B.1.617.3 ไวรัสจะสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันบางอย่างได้ หรือวัคซีนบางตัวอาจใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ และไวรัสยังสามารถเกาะติดกับเซลล์ร่างกายของมนุษย์ เพื่อสร้างทางเข้าไปในสารพันธุกรรมของมนุษย์ได้ด้วย ส่วนในสายพันธุ์ B.1.617.2 ไวรัสจะสามารถเกาะติดกับเซลล์ร่างกายได้

ที่มา : 

 

 

เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor Technology)

เซนเซอร์ (Sensor) คือ ชุดอุปกรณ์ วงจร หรือ ระบบ ที่ทําหน้าที่ตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ หรือลักษณะของสิ่งต่างๆ โดยรอบวัตถุเป้าหมาย และนำข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) ที่ได้จากการตรวจวัด เข้าสู่กระบวนการแจกแจง และวิเคราะห์พฤติกรรมของการเปลี่ยนแปลง ประมวลผลเป็นองค์ความรู้และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ให้มนุษย์สามารถนำองค์ความรู้มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพลดขั้นตอนของกระบวนการทำงาน

ปัจจุบันมีการนำระบบ sensor มาใช้บนโทรศัพท์มือถือ ในหลายรูปแบบ เช่น G-sensor ระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว , Accelerometer Sensor ระบบหมุนภาพ อัตโนมัติ, Orientation Sensor เซ็นเซอร์ปรับมุมมองหน้าจอ, Sound Sensor เซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับเสียง, Magnetic Sensor ตรวจวัดความเข้มสนามแม่เหล็ก, Light Sensor ตรวจจับแสงสว่างสำหรับการปรับแสงบนหน้าจออัตโนมัติ และ Proximity Sensor ระบบเปิด/ปิดหน้าจออัตโนมัติขณะสนทนาแนบหู เป็นต้น ซึ่งเรามักพบคุณสมบัติเหล่านี้ได้กับโทรศัพท์มือถือ แบบ Smartphone ทั้งในระบบ iOs และ Android OS

ที่มา :

  ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  ถนนพระราม6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม.10400